การดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยทำกายภาพบำบัด


ผู้ป่วยติดเตียง

การเจ็บป่วยเป็นเรื่องปกติในชีวิตที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตนเอง แต่ในบางครั้งก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ บ้างมีอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทานยา หรือหากโชคร้ายก็เกิดเจ็บป่วยร้ายแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อาการเจ็บป่วยบางอย่างอาจจำเป็นต้องรับการรักษาและการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัว ดังนั้นในครั้งนี้เราจะมาดูถึงการดูแลผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดกันว่ามีวิธีในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการนี้อย่างไร

การทำกายภาพบำบัดมักทำกับผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือผู้ป่วยที่บาดเจ็บและไม่สามารถขยับตัวได้เป็นเวลานาน เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยค่อยๆคุ้นชินกับการขยับกล้ามเนื้อและเพื่อเสริมให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นจนสามารถขยับด้วยตนเองได้จนเป็นปกติ การดูแลผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยติดเตียงนั้น ส่วนใหญ่มักเริ่มจากการนวดกล้ามเนื้อของผู้ป่วยก่อนเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความรู้สึก แล้วจึงเริ่มฝึกการขยับกล้ามเนื้อในส่วนที่ต้องทำกายภาพแบบง่ายๆ เช่นการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อแขนและมือ จะเริ่มที่การนวดกล้ามเนื้อเบาๆ ลองฝึกขยับนิ้วมือ ข้อมือ ฝึกยกแขนโดยมีคนช่วย เมื่อเริ่มทำได้ก็ฝึกแรงบีบของมือโดยการบีบลูกบอลหรือวัตถุที่อ่อนนุ่ม แล้วค่อยๆฝึกแรงบีบให้มากขึ้น ฝึกการหยิบจับสิ่งของให้อยู่มือ แล้วจึงเริ่มฝึกยกสิ่งของที่มีน้ำหนักเบาๆก่อน เมื่อทำจนคล่องก็ค่อยๆเพิ่มน้ำหนักของสิ่งของเพิ่มมากขึ้นทีละน้อย ฝึกยกแขนบ่อยๆโดยไม่ต้องให้คนช่วย และฝึกจนกล้ามเนื้อสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่มักต้องทำกายภาพบำบัดเกือบทุกส่วนของร่างกาย และเป็นสิ่งที่ค่อยๆทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงใช้เวลานาน และควรทำโดยผู้ที่มีความรู้เป็นคนคอยควบคุมเพื่อไม่ให้เป็นการเร่งเกินไปจนกล้ามเนื้อเสียหาย ผู้ป่วยติดเตียงจึงมักต้องการกำลังใจที่ดีเพื่อให้ตนมีแรงใจในการทำกายภาพบำบัด เพราะหากขาดซึ่งแรงจูงใจหรือผู้ป่วยรู้สึกหมดหวัง ความตั้งใจในการทำกายภาพบำบัดอาจลดลงหรือผู้ป่วยไม่ยอมทำกายภาพบำบัดก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

การทำกายภาพบำบัดช่วยผู้ป่วยติดเตียงได้ดีก็จริง แต่ผู้ป่วยต้องมีกำลังใจในการทำด้วย กายภาพบำบัดจึงจะเห็นผลได้อย่างชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น เพราะสภาพจิตใจที่ดีจะเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นที่ทำให้สภาพร่างกายดีขึ้นตามไปด้วย และการทำกายภาพบำบัดก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหายดี จะทำๆหยุดๆไม่ได้ เพราะความไม่ต่อเนื่องอาจทำให้ต้องเริ่มทำกายภาพบำบัดใหม่ตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะร่างกายไม่ได้ปรับตัวกับการทำกายภาพอยู่สม่ำเสมอ